• cafn101
Oct 15, 2020

ความจริงแล้วพันธุ์กาแฟที่ถูกค้นพบบนโลก มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่มนุษย์เรานำมาดื่มกันจะมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ็กซ์เซลซ่า (Excelsa), ลิเบอริก้า (Liberica), อาราบิก้า (Arabica) และโรบัสต้า (Robusta) ในสองสายพันธุ์แรกนั้น ไม่นิยมนำมาปลูกกันเนื่องจาก รสชาติไม่ถูกปากคอกาแฟสักเท่าใด เราจึงได้ยินกันแต่อาราบิก้าและ โรบัสต้าเสียมากกว่า กาแฟยอดนิยมทั้งสองสายพันธุ์เอง ก็มีความแตกต่างกันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง รสชาติ ระดับคาเฟอีน  ความสูงของพื้นที่ปลูก ความนิยมชมชอบ

เปรียบเทียบเมล็ดกาแฟ อาราบิก้า และ โรบัสต้า

สายพันธุ์อาราบิก้า

อาราบิก้า เมล็ดกาแฟทรงเรียวยาว เส้นกลางรูปตัว S มีกลิ่นหอมหวานอบอวล ซับซ้อน บ้างกลิ่นคล้ายช๊อกโกแลตหรือดอกไม้  สายพันธุ์ยอดนิยมที่ผู้คนต่างตกหลุมรักในรสชาติกลมกล่อม หวานละมุนลิ้น แตกต่างกันไปตามถิ่นกำเนิด ระดับคาเฟอีนไม่เข้มข้นมาก นิยมใช้ในร้านกาแฟสดต่างๆ 

อาราบิก้าเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกกันมากที่สุดในโลก มีหลากหลายสายพันธุ์ย่อย (Variety) เช่น ทิปิก้า (Typica) เบอร์บอน (Bourbon) คาทูร์รา (Caturra) คาทุย (Catuai) พาคามารา (Pacamara) เกอิชาหรือเกชา (Geisha/ Gesha) ฯลฯ  สายพันธุ์เหล่านี้ปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศผู้ผลิตกาแฟอย่างอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และขายส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก ส่วนอาราบิก้าในประเทศไทยปลูกกันในภาคเหนือซึ่งมีลักษณะของภูเขาสูงอากาศเย็น ได้แก่ คาติมอร์ (CatiMor) เรียกตามการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างต้นแม่พันธุ์คาทูร่าผลแดง และต้นพ่อพันธุ์  ไฮบริโด เดอ ติมอร์ แต่การปลูกอาราบิก้านั้นใช้ต้นทุนที่สูงกว่าและต้องการการควบคุมดูแลมาก อีกทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้อย ปลูกยาก และไม่ทนทานเท่าโรบัสต้า ในขณะเดียวกันก็ให้ราคาสูงกว่ามาก

เมล็ดกาแฟคั่วนานาพันธุ์ในอ่างดินเผา

สายพันธุ์โรบัสต้า

โรบัสต้า เมล็ดกาแฟกลมมน เส้นกลางรูปตัว I เติบโตผลิดอกออกผลอยู่ในดินแดนร้อนชื้นหรือริมชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำไม่สามารถปลูกอาราบิก้าได้ ปลูกง่าย แข็งแรง และทนทานต่อโรค  รสชาติซับซ้อนน้อยกว่าแต่เข้มข้น มีคาเฟอีนสูงกว่าอาราบิก้า 1-2 เท่าตัว เราจึงรู้สึกใจสั่นได้เมื่อดื่มในปริมาณที่เท่ากัน จึงนิยมนำไปผลิตกาแฟสำเร็จรูป กาแฟ 3 in 1 ผสมกับกาแฟสายพันธุ์อื่นเรียกกันว่า Blend coffee เพื่อให้ได้รสชาติที่ต่างออกไป รวมถึงพบได้ตามร้านกาแฟโบราณของอาแปะอาม่า 

แต่ก็ใช่ว่าโรบัสต้าจะด้อยกว่าอาราบิก้าไปทั้งหมด นานแล้วที่กาแฟโรบัสต้าถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกาแฟไม่ดี ไม่หอม ไม่ซับซ้อน รสขม ไม่มีคุณภาพเท่าอาราบิก้า นั่นเพราะโรบัสต้ามีความเข้มข้นกว่ามาก ทั้งยังปลูกง่ายและทนทาน จึงถูกใช้ระบบอุตสหกรรมผลิตกาแฟที่มักสนใจในเรื่องต้นทุนมากกว่ารสชาติกาแฟ ซึ่งกระบวนการผลิตกาแฟไม่ได้มุ่งเน้นที่จะขับเอารสชาติของโรบัสต้าออกมาเท่าที่ควร อีกทั้งยังถูกนำไปเปรียบเทียบด้วยเกณฑ์เดียวกับอาราบิก้าซึ่งแตกต่างกันในหลายด้าน หากใช้กระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะสามารถดึงคุณภาพของกาแฟโรบัสต้าให้เพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน

เมล็ดกาแฟระหว่างกระบวนการคั่ว

ปัจจุบันโรบัสต้าไม่ได้ราคาถูกและด้อยคุณภาพไปเสียทั้งหมดแล้ว มีการทำกาแฟโรบัสต้าคุณภาพ (Fine Robusta) หรืออีกชื่อเรียกว่า กาแฟพิเศษโรบัสต้า (Specialty Robusta) ที่นำเสนอความสมดุลของรสชาติที่แท้จริงจากกระบวนการได้มาซึ่งกาแฟอันเหมาะสมกับโรบัสต้า ทำให้กาแฟมีรสชาติที่ดีและมีราคาสูงขึ้นมาก รวมถึงกาแฟโรบัสต้าที่มีราคาสูงที่สุดอย่าง โกปิ ลูวัค (Kopi Luwak) จากอินโดนีเซีย ที่เก็บขึ้นจากมูลของชะมดหลังจากผ่านกระบวนการย่อยภายในร่างกายชะมด ทำให้ได้รสชาติที่ดีเป็นพิเศษ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ กาแฟขี้ชะมด

ไม่ว่าจะเราจะเป็นนักดื่มคออาราบิก้าหรือคอโรบัสต้า ถ้ากาแฟแก้วนั้นผ่านกระบวนการต่างๆ อย่างพิถีพิถันตั้งใจ มั่นใจได้เลยว่า เราจะได้ลิ้มรสชาติอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เราจะหลงใหลอย่างถอนตัวไม่ขึ้นอย่างแน่นอน

น้ำกาแฟสีน้ำตาลอมดำในแก้วใส

Share