เรื่องราวการค้นพบกาแฟในโลกนี้ไม่ได้มีหลักฐานที่แน่ชัด คงมีแต่เพียงเรื่องราวที่เล่าต่อกันจนเป็นตำนานอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในตำนานอันโด่งดัง ได้แก่เรื่องเล่าของคนเลี้ยงแพะนามคาลดี (Kaldi) บ้างเรียกกันว่า “ตำนานแพะเต้นรำ”
ในศตวรรษที่ 9 คาลดีคนเลี้ยงแพะชาวพื้นเมืองเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นดินแดนอันเก่าแก่ทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา พาฝูงแพะออกไปหากินตามปกติ จนกระทั่งพบว่าฝูงแพะอันสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของเขา จู่ๆ กลับคึกคะนอง ไม่ยอมหลับยอมนอน ทั้งยังกระโดดโลดเต้นไปมา คล้ายกับพากันเต้นรำ คาลดีพบว่าอาการผิดแปลกไปของฝูงแพะ เกิดจากการที่แพะของเขากินผลเบอร์รี่สีแดงสด ซึ่งเป็นผลของต้นไม้ที่เจริญเติบโตในทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่เข้าไป ด้วยความอยากรู้เขาจึงทดลองกินบ้าง จึงพบว่ารู้สึกกระปรี้กระเปร่า ความเหนื่อยล้าและความง่วงหายไป ซึ่งผลเบอร์รี่นั้นก็คือผลกาแฟนั่นเอง
คาลดีนำเรื่องนี้ไปบอกกับนักบวชซึ่งอยู่ในโบสถ์แถบนั้น นักบวชจึงนำผลเบอร์รี่นี้ไปทำเครื่องดื่ม และพบว่าตัวเองรู้สึกว่ามีความกระปรี้กระเปร่า สามารถสวดอ้อนวอนพระเจ้าได้ยาวนานโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือง่วงนอน ดังนั้นนักบวชจึงนำเรื่องนี้ไปบอกเล่าต่อนักบวชรูปอื่นๆ ทำให้สรรพคุณของผลเบอร์รี่ชนิดนี้เลื่องลือไปทั่ว เสียงเล่าลือกระจายออกไปทางตะวันออกจนถึงคาบสมุทรอาหรับ และที่นี่เองได้กลายเป็นจุดกระจายของกาแฟไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก
แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าจริง ๆ แล้ว กาแฟมีต้นกำเนิดที่เอธิโอเปียแล้วถูกนำไปเผยแพร่ถึงชาวอาหรับตามตำนาน หรือชาวอาหรับเป็นคนค้นพบกาแฟตั้งแต่เริ่มแรก แต่ประวัติศาสตร์การเดินทางของกาแฟที่เราทราบกันอยู่เริ่มต้นที่ชาวอาหรับ ก่อนกระจายไปทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน
ในช่วงศตวรรษที่ 15 กาแฟเดินทางมาถึงดินแดนอาระเบีย โดยเริ่มเพาะปลูกที่เขตเยเมนก่อนแพร่หลายไปสู่ เปอร์เซีย อียิปต์ ซีเรีย และตุรกี ก่อนที่กาแฟจะกลายเป็นเครื่องดื่มในหมู่ประชาชนนั้น กาแฟถูกใช้ระหว่างพิธีกรรมทางศาสนามาก่อน เหล่านักบวชมักเคี้ยวเมล็ดกาแฟเพื่อขจัดความง่วงและความเหนื่อยล้า ยามที่ต้องประกอบพิธีกรรมอันยาวนานในเวลากลางคืน
กาแฟได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งคาบสมุทรอาหรับพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำให้ผู้คนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากตามลานกว้างและศาสนสถาน ประกอบกับความเชื่อว่าพระเจ้าได้มอบเมล็ดกาแฟ มาเป็นเครื่องดื่มแห่งศาสนาอิสลามแทนไวน์ที่เป็นข้อห้าม ยิ่งทำให้กาแฟหรือ “ไวน์แห่งอาระเบีย” เป็นที่นิยมและแพร่กระจายไปพร้อมกับศาสนาอิสลามสู่อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย จึงทำให้ชาวอาหรับเยเมน สามารถผูกขาดการค้าขายเมล็ดกาแฟได้นานกว่า 2 ศตวรรษ ก่อนจะสูญเสียการผูกขาดไปในภายหลัง
ต่อมากาแฟได้เปลี่ยนจากเครื่องดื่มทางศาสนา มาเป็นเครื่องดื่มทางสังคมมากขึ้น และเกิดร้านกาแฟขึ้นตามเมืองใหญ่หลายร้าน ในช่วงนี้เองที่สันนิษฐานกันว่าได้มีการคิดค้นการคั่ว การบด และการชงกาแฟ
กาแฟเดินทางเข้าสู่ทวีปยุโรปผ่านทางการค้าขายระหว่างเวนิสกับแอฟริกาเหนือ อียิปต์ และดินแดนในตะวันออกกลาง หลังจากการยอมรับจากศาสนาคริสต์ เครื่องดื่มจากต่างศาสนา ต่างความเชื่อก็ได้รับการยอมรับในหมู่ชาวยุโรปมากขึ้น แต่ยังคงมีบทบาททางสังคมและอำนาจอยู่น้อย กระทั่งคณะทูตคณะหนึ่งชงเครื่องดื่มแจกจ่ายให้แก่ชาวยุโรปในงานราตรีสโมสรอันหรูหราแห่งหนึ่งในกรุงปารีส
ร้านกาแฟแห่งแรกเกิดขึ้นในอิตาลี ตามด้วยอังกฤษและอัมสเตอร์ดัม ร้านกาแฟของชาวยุโรปได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของร้านกาแฟแบบอิสลามไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นที่สวยงามสำหรับพักผ่อน พูดคุยพลางดื่มกาแฟ และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยใหม่ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
กาแฟที่ชาวยุโรปดื่มในช่วงแรกมีลักษณะเดียวกับชาวอาหรับที่เรียกว่า เตอร์กิช คอฟฟี่ (Turkish Coffee) ที่ข้นหนืด ต่อมาได้มีการกรองกากกาแฟออกเหลือแต่น้ำ และเติมน้ำผึ้งกับนมลงไป การริเริ่มนี้ได้แพร่หลายออกไปทั่ว ก่อให้เกิดกระแสการพัฒนาวิธีการชงแบบใหม่ๆ เช่น เอสเปรสโซ (Espresso) และกาแฟใส่ฟองนมอย่าง คาปูชิโน (Cappuccio) เป็นต้น
แม้ว่ากาแฟจะเป็นที่นิยมทั่วทั้งยุโรป จนมีร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมายในแต่ละเมือง แต่เมล็ดกาแฟยังคงเป็นสินค้านำเข้า ผูกขาดโดยพ่อค้าชาวอาหรับเยเมน ชาวอาหรับกีดกันไม่ให้ชาวยุโรปปลูกกาแฟได้ด้วยตนเอง จึงคั่วเมล็ดกาแฟทุกเมล็ดก่อนส่งออก เพื่อไม่ให้สามารถนำไปปลูกได้ และยังป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าถึงแหล่งปลูกกาแฟอีกด้วย แต่ชาวอาหรับก็ต้องสูญเสียการผูกขาดนี้ไป เมื่อนักเดินเรือชาวดัตช์คนหนึ่ง ลักลอบเอาต้นกาแฟหรือเมล็ดกาแฟดิบออกไปได้และปลูกได้สำเร็จ ต้นกาแฟได้แพร่กระจายไปเติบโตในพื้นที่อื่นๆ และทำให้ราคากาแฟในตลาดโลกลดลง จนกาแฟของชาวอาหรับไม่สามารถสู้ราคาได้ และสูญเสียการผูกขาดทางการค้าไปในที่สุด
การดื่มกาแฟเริ่มพ่ายแพ้ต่อ “ชา” ที่เข้ามาเผยแพร่ในยุโรป จนอังกฤษได้กลายเป็นชาติที่ดื่มชามากที่สุดในโลก แม้แต่ในรัฐอาณานิคมที่จะกลายเป็นประเทศสหรัฐอมเริกาในเวลาต่อมาก็ยังเปลี่ยนไปนิยมดื่มชา แต่หลังจากเกิดการเพิ่มภาษีชาและการค้าขายผูกขาดของชา ทำให้ชาวอาณานิคมหันกลับมาดื่มกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ จนกาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติอเมริกาในเวลาต่อมา
กาแฟได้ถูกพัฒนาต่อไปอีก เมื่อพ่อค้าขายเมล็ดกาแฟแข่งขันกันคั่วกาแฟในรูปแบบเฉพาะของตนขึ้น ทำให้กาแฟมีความหลากหลาย มีรสชาติ และกลิ่นแตกต่างกันไป ต่างจากร้านในยุโรปและตะวันออกกลางที่มีกาแฟไม่หลากหลาย ประกอบกับกาแฟมีราคาถูกลงมาก จึงทำให้กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มประจำบ้านมากกว่าเครื่องดื่มที่ต้องไปดื่มที่ร้าน
การพัฒนาของระบบขนส่งและเก็บรักษา ส่งผลให้ตลาดกาแฟเติบโตขึ้นมาก เกิดระบบอุตสหกรรมในประเทศต่างๆ ขึ้นอย่างกว้างขวาง และในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา กาแฟได้กลายมาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการรองมาจากน้ำมัน
มีการพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์สุญญากาศขึ้น ส่งผลให้เกิดการค้าเมล็ดกาแฟกันอย่างแพร่หลาย และเริ่มผูกขาดการค้าเมล็ดกาแฟบรรจุห่อ เทคโนโลยีต่างๆ ก่อให้เกิดการสร้างมาตรฐานของกาแฟขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อตรวจสอบคุณภาพของกาแฟให้ได้มาตรฐานและป้องกันไม่ให้ผู้ขายขึ้นราคากาแฟสูงจนเกินไป
เทคโลโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดื่มกาแฟไปทั่วโลก คือ การคิดค้นกาแฟสำเร็จรูปของเนสคาเฟ่ (Nescafe) หรือเนสกาแฟที่เรารู้จักกัน จนได้รับความนิยมไปทั่วโลกพร้อมกับอีกหลายแบรนด์ที่พากันคิดค้น และพัฒนาสินค้าของตัวเองออกมาเช่นกัน กาแฟสำเร็จรูปนี้ได้เริ่มเข้ามาแทนที่กาแฟคั่วสดในบ้านเรือนมากขึ้น แต่กระนั้นร้านกาแฟต่างๆ ก็ยังคงใช้วิธีคั่วสดในการทำกาแฟอยู่
ส่วนร้านกาแฟคั่วสดนั้นยังคงแข่งขันกันพัฒนาการชงกาแฟ รวมถึงบรรยากาศของร้านกาแฟ ที่ในปัจจุบันมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ารสชาติของกาแฟเลย และในศตวรรษที่ 19 นี้เอง ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ (Starbucks) ได้ถือกำเนิดขึ้น และกลายมาเป็นหนึ่งในร้านกาแฟอันมีชื่อเสียงที่สุดในโลก
Share